เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6 มุ่งมั่นที่จะ “ให้มีน้ำเพื่อใช้ประโยชน์และมีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน” นับเป็นเป้าหมายที่เป็นความท้าทายสำคัญที่จะเข้าถึงสำหรับทุกประเทศ (ร้อยละ 40 ของคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำ) รวมทั้งประเทศไทย1,2 ความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6 วัดได้จาก 8 เป้าหมายและ 11 ตัวชี้วัด ซึ่งสามารถดูได้จากตารางที่ 1 ด้านล่าง และหากประสบความสำเร็จจะแสดงถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6
ตารางที่ 1: เป้าหมายและตัวชี้วัดของ SDG 6
วัตถุประสงค์ของ SDG 6 คือ ให้มีน้ำเพื่อใช้ประโยชน์และมีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน
ที่มา: UNSDG Knowledge platform: เป้าหมาย และตัวชี้วัด SDG 6
เป้าหมาย ตัวชี้วัด
6.1 บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ภายในปี 2573 6.1.1 ร้อยละของประชากรที่ใช้บริการน้ำดื่มที่ได้รับการจัดการอย่างปลอดภัย
6.2 บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ใต้สถานการณ์ที่เปราะบางภายในปี 2573 6.2.1 ร้อยละของประชากรที่ใช้บริการสุขอนามัยได้รับการจัดการอย่างปลอดภัย รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ
6.3 ยกระดับคุณภาพน้ำโดยลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีและวัสดุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่งและเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่ทั่วโลกภายในปี 2573 6.3.1 ร้อยละของจำนวนประชากรที่ใช้ส้วมถูกสุขลักษณะ
6.3.2 ร้อยละของตัวของน้ำ ( เช่น มหาสมุทร, ทะเล, ทะเลสาบ, แม่น้ำ, ธารน้ำ, คลอง, หรือสระน้ำ) ที่มีคุณภาพน้ำโดยรอบที่ดี
6.4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำ และจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำภายในปี 2573 6.4.1 ร้อยละความเปลี่ยนแปลงของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทุกช่วงเวลา
6.4.2 ร้อยละของปริมาณน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์ถูกใช้ไป โดยนำความต้องการน้ำของสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาร่วมด้วย
6.5 ดำเนินการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสมภายในปี 2573 6.5.1 ระดับการด่าเนินงานการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบรูณาการ IWRM (0-100)
6.5.2 สัดส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำที่ข้ามเขตแดนมีการจัดการดำเนินงานเพื่อความร่วมมือด้านน้ำ
6.6 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำรวมถึงภูเขาป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบภายในปี 2563 6.6.1 ร้อยละการเปลี่ยนแปลงในบริบทของระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำทุกระยะเวลา
6.a ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในกิจกรรมและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสุขอนามัย ซึ่งรวมถึงด้านการเก็บน้ำ การขจัดเกลือ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเสีย เทคโนโลยี การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 6.a.1 ปริมาณน้ำและสุขอนามัยที่เกี่ยวข้อง กับเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (official development assistance-ODA) ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนบรูณาการการใช้จ่ายของรัฐบาล
6.b สนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการจัดการน้ำและสุขอนามัย 6.b.1 ร้อยละของหน่วยงานบริหารท้องถิ่นที่จัดตั้งและวางนโยบายปฏิบัติการ และวิธีการดำเนินงานเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในเรื่องการจัดการน้ำและสุขอนามัย
เป้าหมายเหล่านี้ได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมแบบองค์รวมครอบคลุมประเด็นต่างๆที่นอกเหนือไปจากการเข้าถึงน้ำและยังช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น คุณภาพน้ำ (เป้าหมาย 6.3) และประสิทธิภาพการใช้น้ำ (เป้าหมาย 6.4) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลและการส่งเสริมสุขอนามัยในทุกระดับ3 การบรรเทาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องมีการป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าไม้ และสภาพแวดล้อมบนภูเขา
ภาพรวมสถานการณ์ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6
เป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีทรัพยากรน้ำอย่างเพียงพอ ประเทศไทยได้รับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,374 มิลลิเมตรต่อปีซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 990 มิลลิเมตรอย่างมาก4
ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันประเด็นปัญหาปริมาณน้ำไม่ค่อยได้รับความกดดันมากเท่ากับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีคุณภาพน้ำที่เพียงพอซึ่งถือได้ว่าเป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6
รูปที่ 1. จุดแข็งและจุดอ่อนด้านความมั่นคงด้านน้ำ และศักยภาพในการพัฒนาเรื่องน้ำของประเทศไทย5
ใน ปีพ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดต่างๆ ของเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่ 6 ประมาณร้อยละ 98 ของประชากรในประเทศไทย สามารถเข้าถึง “น้ำดื่มสะอาด” และ 93% มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น 6 สอดคล้องกับที่กล่าวมานี้ รายงานการทบทวนโดยสมัครใจระดับชาติของประเทศไทยได้รายงานว่า “เกือบร้อยละ 100” ของครัวเรือนสามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและราคาไม่แพง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาล7
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถลดอัตราการตายของทารก และลดโรคที่เกิดจากน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายที่กำหนดให้รัฐบาลทุกระดับต้องจัดหาน้ำสะอาดและสุขาภิบาลในเขตพื้นที่ซึ่งตนเองรับผิดชอบ และเพื่อให้ได้ระดับคุณภาพตามมาตรฐานแห่งชาติสำหรับคุณภาพของน้ำดื่ม8
รูปที่ 2. การบริโภคน้ำต่อวันต่อคนในประเทศไทย9
ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นว่าการเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาลถือเป็นสิทธิมนุษยชน ดังนั้น แม้ว่าประชากรชาวไทยส่วนใหญ่จะเข้าถึงน้ำดื่ม แต่ในความเป็นจริงคนไทยบางส่วนก็ยังไม่เข้าถึงน้ำดื่ม ซึ่งหมายความว่าพวกเขายังไม่สามารถตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน10 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6 มุ่งหวังว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดังนั้น จึงเน้นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและกลุ่มคนชายขอบ เช่น กลุ่มชนพื้นเมืองของไทย ร่วมกับความพยายามในการติดตามและลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการน้ำดื่ม จะช่วยให้มั่นใจได้ในความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6 โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มคนที่มีความต้องการมากที่สุด 11 ความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยซึ่ง “มุ่งมั่น” เพื่อเอาชนะความท้าทายด้านน้ำและสุขาภิบาลในพื้นที่ชนบท12
ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายเพิ่มเติมคือการทำให้มั่นใจได้ว่ามีปริมาณน้ำดื่มสะอาดเพียงพอในอนาคต แม้จะมีการเข้าถึงน้ำดื่มในระดับสูง ในปัจจุบันการตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผสมผสานกับความต้องการใช้น้ำจากอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้น13 นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำเนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ขยะอุตสาหกรรม และน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด ขณะนี้ไหลเข้าสู่ทางน้ำหลายสายของประเทศไทย การบำบัดน้ำเสียยังเป็นอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน แม่น้ำในเขตเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานครอาจถูกปนเปื้อนได้ง่าย อันเนื่องมาจากโรงงานที่ปล่อยมลพิษออกมา14 ซึ่งรวมถึงสารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ย สิ่งปฏิกูลในเขตเมืองและสารเคมีตกค้าง แค่เพียงร้อยละ 15 ของปริมาณน้ำที่บริโภคทั้งหมดได้รับการบำบัดน้ำเสียซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำ ทำให้กระตุ้นให้องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลไทยว่า “การทำให้สุขาภิบาลจากน้ำเป็นจุดเน้นที่สำคัญสำหรับการลงทุน”15 ปัจจุบันมีโรงบำบัดน้ำเสียมากกว่า 100 แห่ง รวมทั้งโรงงานจัดการขยะและน้ำเสียมากกว่า 1,500 แห่ง โดยมีแผนจะสร้างโรงงานบำบัดเพิ่มอีก 19 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มความสามารถในการบำบัดน้ำเสียของประเทศไทยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีในอนาคต
รูปที่ 3. พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ16
มีความจำเป็นต้องจัดการกับความท้าทายด้านการเกษตรในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ ปัจจุบันมีเพียง 1 ใน 6 ของพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยที่ได้รับการพัฒนาระบบชลประทานโดยที่ดินส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย เกษตรกรที่อยู่นอกภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายอันเนื่องมาจากความไม่สมดุลของปริมาณน้ำฝนและภัยคุกคามที่เกิดจากภัยแล้ง17 ความพยายามของประชาชนรากหญ้าในการปรับปรุงระบบชลประทานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกรมชลประทานพร้อมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรกำลังทำงานเพื่อกระจายโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานในประเทศไทยให้เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น ความพยายามเหล่านี้กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
หลัก 3 ประการ ของการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย
กำลังมีการวางแผนเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้และเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดจากความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2558–2569 ของรัฐบาลไทย เป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในประเทศไทย18 ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการโดยใช้แนวทางแบบองค์รวมทั้งในแง่ของประสิทธิภาพการใช้น้ำและโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำในอนาคตได้
ตารางที่ 2: ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์
ยุทธศาสตร์ที่ 1:
การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคจัดหาน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
ยุทธศาสตร์ที่ 2:
การสร้างความมั่นคงของน้ำต่อภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม)บริหารจัดการความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมให้สมดุลกับน้ำต้นทุนและรวมต้องการใช้น้ำ ลดความสุญเสียน้ำ และเพิ่มมูลค่าน้ำของประชาชน จัดกาน้ำต้นทุนเพื่อการใช้น้ำขั้นพื้นฐานและรักษาระบบนิเวศ จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรตามศักยภาพ และจัดหารแหล่งน้ำต้นทุนเพื่ออุตสาหกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3:
การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่มีผลกระทบรุนแรงและความเสียหายสูง ลดความเสียหายในพื้นที่เกษตร และสนับสนุนการปรับตัวในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก และลดความเสียหายจากน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลันในหมู่บ้านเสี่ยงภัย
ยุทธศาสตร์ที่ 4:
การจัดการคุณภาพน้ำแหล่งน้ำทั่วประเทศมีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยให้มีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย และลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และแหล่งน้ำเสื่อมโทรมได้รับการแก้ไขฟื้นฟูยกระดับให้ดีขึ้น และควบคุมความเค็มปากแม่น้ำ ณ จุดควบคุม
ยุทธศาสตร์ที่ 5:
การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดินฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ และป้องกันการสูญเสียหน้าดินและพื้นที่ดินถล่มในพื้นที่เกษตรลาดชัน
ยุทธศาสตร์ที่ 6:
การบริหารจัดการมีองค์กร กฎหมาย ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนแผนที่เป็นเอกภาพ มีระบบข้อมูลใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต สร้างความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตาม และระบบติดตาม ประเมินผลและบำรุงรักษาอาคารชลประทาน
รูปที่ 4. หลัก 3 ประการ ของการจัดการน้ำในประเทศไทย19
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ้างถึงรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่กำลังดำเนินการเพื่อ:
- แก้ปัญหาทรัพยากรน้ำที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง
- บูรณาการการจัดการน้ำในลักษณะที่เหมาะสม
- ความสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- ขยายการศึกษาแผนยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำที่มีอยู่และแผนปฏิบัติการ20
แผนนี้ได้ถูกกำหนดขึ้นตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และพยายามที่จะส่งเสริมแนวทางแบบองค์รวมและแบบบูรณาการในการจัดการน้ำ ในขณะเดียวกันก็มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอื่นๆ ควบคู่กันไป21 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตั้งมูลนิธิมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อ พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือกับประเด็นการพัฒนาที่เกี่ยวกับน้ำ ในปีพ.ศ. 2560 มากกว่า 600 หมู่บ้านได้บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชี้นำความพยายามในการพัฒนาน้ำโดยอาศัยความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์22
รัฐบาลยังได้ทำงานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่ชนบทและชุมชนเกษตรกรรม ตัวอย่าง เช่น ในปี พ.ศ. 2559 ในช่วงฤดูแล้งที่รุนแรงรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรน้ำได้รับการจัดการเพื่อเข้าถึงพื้นที่ที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุด รัฐบาลให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและให้การสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยลง23
รูปที่ 5. ผลกระทบของอุทกภัยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง24
การตอบสนองจากภาคประชาสังคม
กลุ่มประชาสังคมต่างๆ ได้รับทราบถึงความพยายามของรัฐบาลในการจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความยั่งยืนมากขึ้น แต่หลายคนให้เหตุผลว่ายังคงมีบางอย่างที่ต้องปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการเรียกร้องให้มีการปรึกษาหารือเพิ่มเติมกับชุมชนท้องถิ่นเมื่อดำเนินการโครงการจัดการน้ำเพื่อปรับปรุงการบำบัดน้ำเสีย เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามซึ่งแหล่งต้นน้ำกำลังเผชิญอยู่และเพื่อปรับปรุงการศึกษาของประชาชนเกี่ยวกับประเด็นการอนุรักษ์น้ำ25 พวกเขายังให้ความสนใจกับความจริงที่ว่าประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนทำได้ยากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า 26 ดังนั้น พวกเขากำลังกดดันให้รัฐบาลวางแผนล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตน้ำเกิดขึ้นอีกในอนาคต
อันดับความก้าวหน้าของประเทศไทยจนถึงปัจจุบันสนับสนุนทั้งมุมมองของรัฐบาลว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6 ตลอดจน การวิจารณ์ของภาคประชาสังคมว่ายังคงมีช่องทางในการปรับปรุง ความพยายามของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6 ได้รับการจัดอันดับเป็น “สีเหลือง” โดยดัชนีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก ระดับที่พวกเขาใช้อยู่ในช่วงตั้งแต่สีเขียวหมายถึงบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถึงสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ซึ่งแต่ละสีแสดงถึงระยะห่างที่เพิ่มขึ้นจากการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถานะสีเหลืองของไทยถูกกำหนดจากความจริงที่ว่าการเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาลที่ดีขึ้นยังคงไม่ถึงร้อยละ 100 แม้ว่าน้ำจืดจะมีสัดส่วน ร้อยละ 13.10 ของทรัพยากรน้ำหมุนเวียนทั้งหมด27 และการขาดน้ำใต้ดินที่นำเข้าคือ 2.9 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปีต่อคน ทั้งสองคะแนนให้สถานะ “สีเขียว” ตามดัชนีการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการทำงานเพื่อให้บรรลุทุกตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6 จะช่วยให้มั่นใจได้ว่ามีความยืดหยุ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยจะเกิดขึ้น และการขาดแคลนน้ำไม่เป็นอุปสรรคมากนักที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ประเทศไทยรวมทั้งพันธมิตรด้านการพัฒนาและประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมมือกันในการแบ่งปันเทคโนโลยี และเพื่อให้แน่ใจในการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นความพยายามที่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะถูกกำหนดไว้อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก28
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการของภาคประชาสังคมของไทยต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
References
- 1. ฐานข้อมูลเปิดการพัฒนาลุ่มน้ำโขง. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล. เข้าถึงเมื่อเดือนกรกฏาคม 2561.
- 2. แผนงานพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย. เป้าหมายที่ 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล. เข้าถึงเมื่อเดือนมิถุนายน 2561.
- 3. Iอ้างแล้ว.
- 4. แบ็กเตอร์, วิว นิโคลาส กรอสแมน และนิน่า แว๊กเนอร์. 2561. การเรียกร้องสู่การปฏิบัติ: ประเทศไทยและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน. หน้า 76.
- 5. สุจริต คูณธนกุลวงศ์, เปี่ยมจันทร ดวงมณี และปิยธิดา ห้อยสังวาลย์. แนวคิดดัชนีความมั่นคงด้านน้ำ: สถานการณ์ความมั่นคงด้านน้ำในประเทศไทยในบริบทของโลกและอาเซียน. การสัมมนาทางวิชาการ Kovacs 2557.
- 6. หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์. 2560. “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: เส้นทางของประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน. กระทรวงการต่างประเทศ พิมพ์ครั้งที่ 2.
- 7. กระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย. 2560. การทบทวนโดยสมัครใจระดับชาติของประเทศไทยเกี่ยวกับการดำเนินการของวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ.2573.
- 8. อ้างแล้ว
- 9. ซีเมนส์. 2560. ดัชนีเมืองสีเขียวของเอเชีย. หน้า 39.
- 10. สมัชชาแห่งสหประชาชาติ. 2553. มติที่ 64/292: สิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาล. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561.
- 11. องค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับน้ำ 2561. รายงานสรุปด้านน้ำของสหประชาชาติว่าด้วยน้ำและสุขาภิบาล: บทสรุปสำหรับผู้บริหาร.
- 12. อ้างแล้ว.
- 13. อ้างแล้ว.
- 14. สถานเอกอัครราชทูตของประเทศเนเธอร์แลนด์ ประจำกรุงเทพ. 2559. สาขาน้ำในประเทศไทย. หน้า 3.
- 15. อ้างแล้ว.
- 16. แบ็กเตอร์, วิว นิโคลาส กรอสแมน และนิน่า แว๊กเนอร์. 2561. การเรียกร้องสู่การปฏิบัติ: ประเทศไทยและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน. หน้า 78.
- 17. อ้างแล้ว.
- 18. รัฐบาลไทย. 2561. นายกรัฐมนตรีเน้นการดำเนินการของรัฐบาลและแผนการจัดการน้ำระดับชาติ. วันที่ 4 มิถุนายน 2561
- 19. อ้างแล้ว.
- 20. ดวงใจ ศรีธวัชชัย. กรมทรัพยากรน้ำ ประเทศไทย. 2560. ประเทศไทย: การประชุมเชิงวิชาการระดับภูมิภาคเอเชียเพื่อทำให้เป็นประเด็นหลักด้านการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาทรัพยากรน้ำ. นำเสนอเมื่อเดือนกันยายน 2560.
- 21. อ้างแล้ว.
- 22. อ้างแล้ว.
- 23. กรมประชาสัมพันธ์ รัฐบาลไทย. 2559. แผนจัดการน้ำของรัฐบาลและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง. 22 มกราคม 2559.
- 24. อ้างแล้ว.
- 25. อ้างแล้ว.
- 26. อ้างแล้ว.
- 27. ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน. 2560. รายงานของแต่ละประเทศ: ประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อเดือนมิถุนายน 2561.
- 28. อ้างแล้ว.