นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่งของประเทศไทยโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนด้อยพัฒนา และเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยในบริเวณนั้น แต่ทว่า กระบวนการได้มาและจัดการที่ดินทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสร้างก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐบาล ซึ่งกลไกการตัดสินใจโดยมากเกิดขึ้นจากภาครัฐ ขาดการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ นำไปสู่ข้อร้องเรียนต่างๆ และทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนา
นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรที่ดินสาธารณะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มีการรับรองโดยภาครัฐ มีการใช้มาตรการกระตุ้นดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดยกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราชพัสดุ โดยมีกรมธนารักษ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และมีการจัดสรรพื้นที่ให้หน่วยงานราชการ หรือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือนักลงทุนใช้ประโยชน์1
ทั้งนี้ จากนั้นหน่วยงานภาครัฐจะจัดสรรที่ดินให้กับนักลงทุน สร้างแรงจูงใจด้วยการทำข้อตกลงเฉพาะการเจรจาด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่และผลประโยชน์สาธารณะที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า การเจรจาระหว่างภาครัฐและชาวบ้านในพื้นที่มักจะล้มเหลว ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่จำกัดความยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่เหล่านี้
ผลที่ตามมาคือ โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้มีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไปและประโยชน์ที่คาดไว้จะถูกถ่ายโอนไปยังภูมิภาคอื่น และเป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทยได้ส่งผลผลักดันราคาที่ดินในภูมิภาคให้สูงขึ้นตามการเก็งกำไร ด้วยเหตุนี้ ความล้มเหลวในการเจรจาจะตัดโอกาสให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าของโครงการ
ผลกระทบทางสังคม
การดำเนินงานของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษส่งผลกระทบทางสังคมมากมาย เช่น ความขัดแย้งการใช้ที่ดิน และแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น และกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ ตัวอย่างเช่น แนวทางการดำรงชีวิตแบบพื้นบ้านลดลงอันเป็นผลมาจากความเจริญ บริษัทที่มาลงทุนตั้งใหม่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีความต้องการแรงงานต่างชาติราคาถูก ซึ่งมักจะตรงกันข้ามกับความต้องการของคนในพื้นที่ต่อโอกาสการจ้างงานที่ดึงดูด นอกจากนี้ เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ที่ดินสาธารณะเพื่อกำหนดเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คนในพื้นที่อาจจะสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรส่วนกลางในพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำอยู่เพื่อรายได้ของครอบครัว
แรงงานข้ามชาติ
ในปีพ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 3.59 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 5.6 ของประชากร หรือร้อยละ 9.6 ของการจ้างงานทั้งหมด) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีพ.ศ. 2558 และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามจังหวัดชายแดน แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะรับรองสถานะของแรงงานข้ามชาติและให้ได้รับการบริการพื้นฐานทางสังคม แต่ระบบยังไม่รองรับ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารรับรอง และเสี่ยงต่อเป็นการเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งยิ่งสร้างความกังวลมากขึ้นถึงความเป็นไปได้ให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ เนื่องจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความเจริญอันเป็นผลมาจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ2 องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติจะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเรื่องสิทธิของผู้อพยพและเงื่อนไขการจ้างงานของแรงงานที่เหมาะสม
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากรัฐบาลต้องการเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย จึงส่งผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ป่าสงวน คุณภาพน้ำและอากาศ และการจัดการขยะ
ทรัพยากรป่าไม้
ความต้องการใช้ที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้สร้างแรงกดดันต่อพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่การเกษตรอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้การพัฒนาดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว จึงเลือกดำเนินการในพื้นที่ป่าไม้ ทั้งเขตป่าสงวนและป่าเสื่อมโทรมซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐ
การจัดสรรพื้นที่ป่าสงวนและป่าเสื่อมโทรมที่เป็นที่สาธารณะกลายเป็นประเด็นถกเถียง เพราะหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนวางแผนการใช้ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศป่าไม้ที่มีอยู่หรือการใช้ประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่ การดำเนินงานทำนองนี้มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่น ตัวอย่างความขัดแย้งที่ผ่านมาถูกนำเสนอด้านล่างนี้
ทรัพยากรน้ำ
แนวทางจัดการการใช้ที่ดินมีบทบาทสำคัญในการจัดการคุณภาพแหล่งน้ำ3
การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมผ่านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมักจะลงเอยด้วยการแปลงพื้นที่ธรรมชาติเป็นเขตอุตสาหกรรมและก้าวสู่ความเป็นเมืองในที่สุด ทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำเชิงแข่งขันอย่างสูงซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการ ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ภาวะกดดันต่อทรัพยากรน้ำ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสามารถก่อผลกระทบต่อความพร้อมของน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตร แหล่งน้ำภายในประเทศ รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรวม ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายๆ แห่งมีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต
คุณภาพอากาศ
มีการคาดการณ์ว่า จะมีการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นจากความเจริญของเมืองและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น ปัญหาฝุ่นละออง (PM10) และการปล่อยสารอินทรีย์ระเหย (VOCs)4 ซึ่งมีการสังเกตเฝ้าดูปัญหานี้ว่า ได้ส่งผลกระทบดังกล่าวต่อสุขภาพของคนในพื้นที่แล้ว
ปัญหาขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
ความเป็นเมืองและอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จากความเจริญด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เกินขีดการรองรับของระบบนิเวศ
ทุกจังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ดังนั้น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเป็นต้องมีแนวทางบำบัดและกำจัดขยะมูลฝอย รวมทั้งดำเนินการวางแผนปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เช่น วางแผนการขนย้ายขยะจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขนาดเล็กไปยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขนาดใหญ่เพื่อการจัดการได้อย่างถูกวิธี5
จากรายงานสถานกาณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 ยังพบว่า หลายจังหวัดมีปัญหาปริมาณขยะมูลฝอยตกค้าง และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นหากมีการดำเนินงานเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รายงานนี้ยังแสดงให้เห็นว่า จังหวัดที่มีการดำเนินการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีปริมาณขยะมูลฝอยมากที่สุดอยู่ในอันดับต้นๆ โดยเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรามีการสะสมของขยะตกค้างเป็นจำนวน 1,242,000 ตันในปี พ.ศ. 25596
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง
References
- 1. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประเทศไทย. 2558. คู่มือลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ.
- 2. กลุ่มธนาคารโลก. 2559. การกลับมาสู่ความสำเร็จ: ฟื้นฟูการเติบโตและความมั่นคงให้แก่ทุกคน.
- 3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2561. น้ำใต้ดินและพื้นที่ชุ่มน้ำ: ร่างแผนสิ่งแวดล้อมสำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก. หน้า 2–43. เข้าถึงเมื่อกันยายน 2561.
- 4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2561. สรุปปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาควันออก. ร่างแผนสิ่งแวดล้อมสำหรับเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหน้า. หน้า 2-64.
- 5. กรมควบคุมมลพิษ. 2559. รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยปี พ.ศ. 2559.
- 6. อ้างแล้ว. หน้า 28.