การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หมายถึง การลงทุนข้ามพรมแดนที่นักลงทุนจากประเทศหนึ่งมีความสนใจในการลงทุนและสร้างอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อองค์กรในอีกประเทศอื่น การลงทุนประเภทนี้เกี่ยวข้องกับการไหลของเงินทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง โดยนักลงทุนต่างชาติจะได้รับสิทธิ์ในการถือหุ้นในบริษัทและทรัพย์สินของประเทศเจ้าบ้านจำนวนมากพอที่มีผลต่อการควบคุมการดำเนินกิจการ การลงทุนจากต่างประเทศ จึงหมายถึงการที่นักลงทุนต่างชาติมีบทบาทในการบริหารจัดการหรือถือหุ้นจำนวนมากในระดับที่สามารถมีอิทธิพลต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรนั้นได้
ประเทศไทยถือเป็น ‘ประเทศอุตสาหกรรมใหม่’ โดยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเกษตรกรรมไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 1.517 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี พ.ศ. 2566 ซึ่งทำให้เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ในเอเชีย1 ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนชาวต่างชาติ2 อย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2509
นอกเหนือจากการลงทุนภายในประเทศแล้ว ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่สำคัญที่สุดในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) โดยเฉพาะในประเทศต่าง ๆ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น โครงการพลังงานน้ำ เป็นต้น
กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลกิจกรรมการลงทุนโดยบุคคลที่ไม่ใช่คนไทยโดยเฉพาะ โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเข้าเมือง ภาษี และการถือครองที่ดิน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ผู้เกษียณอายุที่มีความมั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถทำงานจากระยะไกลในประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวกำหนดกลุ่มธุรกิจบางประเภทที่ชาวต่างชาติไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่มีใบอนุญาตเพิ่มเติมหรือการได้รับการยกเว้น เช่น ธนาคาร การประกันภัย และการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นกิจการที่สงวนไว้สำหรับคนไทย โดยการถือหุ้นของชาวต่างชาติในธุรกิจเหล่านี้จะถูกจำกัดไม่เกิน 50% ของการลงทุนทั้งหมด
กฎหมายสำคัญอื่นๆ ที่กำกับดูแลการลงทุนของชาวต่างชาติ ได้แก่ พระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 หากคุณเป็นชาวต่างชาติที่ต้องการทำงานในประเทศไทย คุณต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้ต้องขอใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน หรือเข้าข่ายได้รับยกเว้นตามที่ระบุไว้ในกฎหมายดังกล่าว สำหรับพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมุ่งดึงดูดและสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี สิทธิประโยชน์ด้านภาษีประกอบด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงระยะเวลาที่กำหนด และการยกเว้นอากรนำเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบในระยะแรกของธุรกิจ สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีรวมถึงการช่วยเหลือในการขอใบอนุญาตทำงานสำหรับพนักงานต่างชาติ อาจมีการอนุญาตให้ถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติ (ซึ่งโดยทั่วไปจะสงวนไว้สำหรับคนไทย) และโอกาสในการถือหุ้นทั้งหมดโดยชาวต่างชาติในหลากหลายภาคส่วนที่ได้รับการส่งเสริมโดยบีโอไอ
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบในการพัฒนาและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐบาล โดยให้บริการที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ พร้อมทั้งมอบสิทธิประโยชน์และสิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม บริการแบบเบ็ดเสร็จของกนอ. ครอบคลุมความต้องการต่างๆ อย่างครบวงจร รวมถึงการซื้อและเช่าที่ดิน คำแนะนำเกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงงาน และการออกใบอนุญาตโรงงาน
นักลงทุนหลัก
ในทุกปีระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึง 2565 ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนหลักในประเทศไทย อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2566 จีนได้กลายเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งในประเทศไทย ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่เป็นอันดับสอง และสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในอันดับสาม ด้วยโครงการจำนวน 40 โครงการ มูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่สี่ และไต้หวันอยู่ในอันดับที่ห้า และในปี พ.ศ. 2566 ยังเป็นปีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) บันทึกจำนวนคำขอการลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากการชะลอตัวของการลงทุนในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก
ตามรายงานของกรมประชาสัมพันธ์ ในช่วงห้าเดือนแรกของปี พ.ศ. 2567 บริษัทต่างชาติทั้งหมด 317 แห่งได้รับการอนุมัติให้ลงทุนในประเทศไทย โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนหลัก มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด 84 โครงการ มูลค่า 40,214 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา จีน และฮ่องกง ซึ่งเป็นนักลงทุน 5 อันดับแรกในช่วงเวลานี้3
อุตสาหกรรมและภาคส่วนการลงทุน
ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา โดยจีนได้ย้ายบางส่วนของห่วงโซ่อุปทานมายังประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภูมิภาคนี้ รัฐบาลไทยได้เห็นแผนการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์ เช่น Mercedes ของเยอรมนี และ Great Wall Motor ของจีน4
ปัจจุบัน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักๆ ต่อไปนี้ (1) อุตสาหกรรมชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (bio-circular-green industries) (2) รถยนต์ไฟฟ้า (3) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (4) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ (5) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนในเขตนี้รวมถึงการลดหย่อนภาษี ข้อยกเว้นด้านกฎระเบียบ และการเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับสูง จากบริษัทต่างชาติทั้งหมด 317 แห่งที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนในประเทศไทยจนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มี 99 แห่งที่สนใจลงทุนในพื้นที่ EEC
ในปี พ.ศ. 2566 มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) บันทึกการลงทุนโครงการต่างชาติ โดยก่อนหน้านี้ การลงทุนจะแยกตามประเภทต่าง ๆ ดังนี้:
- เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร
- แร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน
- อุตสาหกรรมเบา
- ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ
- บริการและสาธารณูปโภค
- การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ข้อมูลการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2566 ได้รับการจัดกลุ่มใหม่ในประเภทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนี้:
- เกษตรกรรม อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ
- การแพทย์
- เครื่องจักรและยานยนต์
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ
- เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี
- สาธารณูปโภค
- ดิจิทัล
- อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
- บริการที่มีมูลค่าสูง
เขตเศรษฐกิจพิเศษ
เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เพิ่งได้รับการกำหนดโดยคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลไทย การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของประเทศไทยเริ่มต้นจากแนวคิดที่ธนาคารพัฒนาเอเชียเสนอในปี พ.ศ. 2541 เพื่อส่งเสริมการใช้เส้นทางทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน เพื่อเปลี่ยนส้นทางขนส่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
ในปี พ.ศ. 2556 คณะรัฐมนตรีไทยได้มอบหมายให้มีการศึกษาเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (NCPO) ได้ประกาศนโยบายใหม่เกี่ยวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเชื่อมเมืองชายแดนกับเมืองอื่น ๆ ในอาเซียน โดยมีการประกาศพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษในสองระยะ
หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือที่รู้จักในชื่อพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ครอบคลุมสามจังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เขตนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560 ด้วยงบประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท (43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับห้าปีแรก และมีแผนเพิ่มเติมมูลค่า 1.35 ล้านล้านบาท (44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อพัฒนาพื้นที่ EEC ให้กลายเป็นศูนย์กลางการเงินระดับภูมิภาคและเมืองอัจฉริยะระดับโลกภายในปี พ.ศ. 2580
นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างรถไฟความเร็วสูงใหม่ที่จะเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยรถไฟความเร็วสูงสายดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา จะเชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2572 และจะดำเนินการโดยบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมลงทุนกับพันธมิตร เช่น กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์, ช.การช่าง, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, และ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น
หน้าที่เกี่ยวข้อง
- Foreign Investment in Cambodia
- Foreign Direct Investment in Laos
- Foreign Direct Investment in Myanmar
- Foreign Direct Investment in Vietnam
- Infrastructure Financiers
- เขตเศรษฐกิจพิเศษ
References
- 1. ไอเอ็มเอฟ. 2567. https://www.imf.org/en/Publications/WEO/weo-database/2024/April. เข้าถึงเดือนมิถุนายน 2567.
- 2. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. 2567. https://www.boi.go.th/index.php?page=thailand_rankings. เข้าถึงเดือนพฤษภาคม 2567.
- 3. กรมประชาสัมพันธ์. 2024. https://thailand.prd.go.th/en/content/category/detail/id/48/iid/301804. เข้าถึงเดือนกรกฎาคม 2567.
- 4. อาเซียนบรีฟวิ่ง. 2567. https://www.aseanbriefing.com/news/promising-sectors-for-investment-in-thailand/. เข้าถึงเดือนมิถุนายน 2567.